นายจรัส บวชชุม บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 8 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินต้นแบบจังหวัดตรัง
วันศุกร์ ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558, 06.00 น.
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เป็นนโยบายหนึ่งของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ต้องการสร้างจุดเรียนรู้ในด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าไปศึกษา เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร
นางจิราพรรณ ชัชวาลชัยพรรณ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตรัง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินตรังได้รับงบประมาณจากกรมพัฒนาที่ดิน ในการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินกระจายอยู่ทุกอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต จากการลดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตร หันมาใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งพด.ต่างๆ ในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการปลูกพืชปุ๋ยสดไถกลบเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ตัวอย่าง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ของนายจรัส บวชชุม หมอดินอาสาประจำตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ถือเป็นศูนย์ ต้นแบบประจำอำเภอปะเหลียน ที่สามารถพลิกฟื้นพื้นที่ที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี จนดินเสื่อมโทรม ให้กลับมาทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ เป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตสินค้าไม่พอจำหน่าย
นายจรัส บวชชุม เจ้าของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ประจำอำเภอปะเหลียน เล่าว่า แต่ก่อนก็ปลูกยางพารา ใช้สารเคมีจำนวนมาก พอมาปลูกกาแฟ มังคุด หรือพืชชนิดอื่นทำให้ผลผลิตไม่ดี ปลูกไม่ขึ้นเลย เพราะดินเสื่อมโทรมอย่างมากจากการใช้สารเคมีต่อเนื่องและขาดการปรับปรุงดิน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินตรัง เข้ามาส่งเสริมถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี และคัดเลือกให้เป็นหมอดินอาสา ก็ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินทุกรูปแบบ เมื่อมีความรู้จึงนำกลับมาทดลองทำในพื้นที่ของตนเอง ทั้งการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่างๆ เพราะก่อนจะไปเผยแพร่ให้ใครเราก็ต้องทำด้วยตนเองก่อน ถ้าพลิกฟื้นพื้นที่ของตัวเองได้สำเร็จ ไปส่งเสริมใครเขาก็จะเชื่อถือมากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2550 หลังจากที่เป็นหมอดินอาสา ก็ได้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้และกล้าที่จะพูดบอกกับทุกคนที่ทำการเกษตรว่า ดิน คือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าดินดี ปลูกอะไรก็ดี ใส่ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพก็ดีไปหมด แต่ถ้าดินไม่ดี จะใส่ปุ๋ยอะไรก็ไม่ดีโดยเฉพาะปุ๋ยเคมียิ่งใส่ยิ่งไม่ดี ดังนั้น ถ้าจะปลูกอะไรอย่างแรกต้องคำนึงคือต้องรู้ว่าดินของตัวเองเป็นอย่างไร ด้วยการนำตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหาร ค่าความเป็นกรด ด่าง จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับพืชที่ปลูก ก็จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว ไม่ต้องใส่ปุ๋ยที่เกินความต้องการของพืช
จรัส บวชชุม
ผลสำเร็จจากการปรับปรุงพื้นที่และหันหลังให้กับปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาเกือบ 7 ปี ทำให้พื้นที่กว่า 3 ไร่ ได้ถูกพลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชผลที่ปลอดสารพิษได้หลากหลาย เช่น ผักกางมุ้ง กาแฟ ผักเหลียงซึ่งผลผลิตทุกอย่างได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผักกางมุ้งที่จะนำไปวางขายเองที่ตลาดในจังหวัด ปรากฏว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ปลูกผักโดยใช้สารเคมี เอาไปวางขาย 10 ถุง ก็ขายไม่หมด แต่ปัจจุบันผู้บริโภคที่รู้ว่าเราผลิตผักปลอดสารพิษ เอาไปเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย แถมได้ราคาสูงกว่าผักทั่วไปที่ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท พอเป็นผักปลอดสารสามารถเพิ่มราคาจำหน่ายได้ถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภคก็ยินดีที่จะจ่าย สำหรับผักกางมุ้งที่นี่จะเก็บทุกๆ 3 วันครั้ง ผักเหลียงก็เช่นกัน ส่วนกาแฟ เก็บผลผลิต 6 เดือนครั้ง นับว่าชีวิตดีขึ้นมากหลังจากหันหลังให้สารเคมี ทั้งเรื่องสุขภาพและรายได้ที่มั่นคงขึ้น
หากท่านใดสนใจอยากเข้าไปศึกษาดูงาน ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินต้นแบบแห่งนี้ ติดต่อได้ที่นายจรัส บวชชุม เลขที่ 36 หมู่ 8 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หรือติดต่อที่สถานีพัฒนาที่ดินตรัง
เกษตรกรตรัง ปลูกพริกไทยปะเหลียนแทนยาง
เผยแพร่ |
วันพฤหัสที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2560 |
นายประเสริฐ โมรา เกษตรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กล่าวว่า พริกไทยที่มีชื่อของตรังคือ พันธุ์ปะเหลียน ซึ่งในอดีตปลูกกันเยอะ จนเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มตลาดยุโรปว่า มีคุณภาพดีเยี่ยม แต่ต่อมาเหลือกิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท เกษตรกรจึงหันไปปลูกยางพาราแทนทำให้สวนพริกไทยหาย เมื่อมาถึงยุคที่ยางพาราราคาตกต่ำ กลุ่มเกษตรกร 20 คน ในนามศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลสุโสะ จึงได้นำพริกไทยพันธุ์นี้ที่มีต้นกำเนิดดั้งเดิมบนเทือกเขาบรรทัดมาปลูกกันในพื้นที่ 25 ไร่ หรือประมาณ 2,500 ต้น
ด้าน นายจรัส บวชชุม ประธานกลุ่มเกษตรกรบ้านห้วยน้ำตก กล่าวว่า ปลูกมาได้ 2 ปี พริกไทยเริ่มให้ผลผลิต และส่งไปขายทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศซึ่งต่างเชื่อมั่นในพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน และให้ราคาสูงกว่าพันธุ์อื่น เนื่องจากมีลักษณะเด่นตรงที่กลิ่นหอม เผ็ดร้อนจัดจ้าน ผลแก่สีเขียวเข้ม และผลสุกสีแดงเข้ม โดยพริกไทยดำ อยู่ที่กิโลกรัมละ 500-600 บาท ส่วนพริกไทยขาว กิโลกรัมละ 1,100-1,200 บาท